ครม.เห็นชอบร่างเอกสารฯ 7 ฉบับที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ชูยุทธศาสตร์ส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสาร 7 ฉบับที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เกาะโบราเคย์ ฟิลิปปินส์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และมีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู: ITU) ว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล และร่วมรับรองร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์

สำหรับร่างเอกสารฯ 7 ฉบับที่จะมีการร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู: ITU) ว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล  ที่จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ ITU ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ 11 ด้าน อาทิเช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดใหม่เพื่อสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างบูรณาการและรับมือกับวิกฤตของโรคโควิด-19 แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของเมือง ข้อริเริ่มเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม ปลอดภัย ทำงานร่วมกันได้ และยั่งยืน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จะอยู่ภายใต้รูปแบบการจัดการประชุม เชิงปฏิบัติการ และ/หรือกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพด้านต่างๆ เป็นต้น

2. ร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ เป็นเอกสารที่มุ่งขับเคลื่อนการผลักดันการเป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง รวมถึงส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอย่างเท่าเทียม โดยให้ความสำคัญกับประเด็น เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้าทางดิจิทัล สร้างความมั่นใจว่าการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพและการใช้งานของบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐและแนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับรูปแบบธุรกิจใหม่

3. ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสาหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึงความเหมือนและความแตกต่างกันระหว่างข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการโอนย้ายข้อมูลของทั้งสองภูมิภาค ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอาเซียนและสหภาพยุโรปตามความเหมาะสม และช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามข้อกาหนดของข้อสัญญาได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน เป็นผลการศึกษายุทธศาสตร์ ข้อริเริ่ม และกรอบธรรมาภิบาลด้าน AI เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทากรอบธรรมาภิบาลด้าน AI สำหรับอาเซียน โดยได้เสนอหลักการ 7 ข้อ ได้แก่ 1.ความโปร่งใส 2.ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม 3.ความมั่นคงและความปลอดภัย 4.การยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง 5.ความเป็นส่วนตัวและธรรมาภิบาลด้านข้อมูล 6.ความรับผิดชอบ และ 7.เสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของระบบ

5. ร่างกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน เพื่อพัฒนากรอบการดำเนินงานของระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลในอาเซียน

6. ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน 6 เสาหลัก ได้แก่ 1.ผู้มีความสามารถ 2.การศึกษา 3.เงินทุน 4.ความเชื่อมโยง 5.สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และ 6.โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของภูมิภาคอาเซียน  โดยประเทศไทยไทยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การศึกษา การทำการตลาดเชิงรุกในการอบรมแบบค่ายฝึกสอนและการสร้างทักษะด้านเทคโนโลยี และเงินทุน การเพิ่มช่องทางให้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านขั้นตอนการสมัครที่ง่ายขึ้นและมีมูลค่าทุนที่มากขึ้น เป็นต้น

7. ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เป็นเอกสารที่ระบุถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 และการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ

“การลงนาม รับรอง ให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 7 ฉบับ จะเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการเร่งขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาด้วยแนวทางที่ยั่งยืนและเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ขัดกับหลักการที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอ ครม. ทราบภายหลัง” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ที่มา 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar