ฝ่าวิกฤติความเครียดยุค 5G

ฝ่าวิกฤติความเครียดยุค 5G

5G กำลังมา เทรนด์นี้หลายท่านที่ติดตามข่าวสารก็ทราบกันดี และหลายคนก็ฝากความหวังไว้ว่า 5G จะนำพาบริการไฮเทค และความสะดวกสบายต่างๆมาสู่ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบการจราจรอัจฉริย, การรักษาพยาบาลทางไกล, ห้างค้าปลีกล้ำๆ หรือการสร้างสมาร์ทซิตี้ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงเข้าหากันได้หมด

อย่างไรก็ดี ความไฮเทคของโครงข่ายโทรคมนาคม 5G นี้ไม่ได้ได้มาฟรีๆ ทุกประเทศทั่วโลกทราบดีว่าต้องยอมแลกกับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางส่วนอาจเป็นตัวเงินในการลงทุนโครงข่าย และบางส่วนอาจเป็นพฤติกรรมของคนที่จะเปลี่ยนไป โดยผลสำรวจ แนวโน้มพฤติกรรมบริโภคประจำปี 2562 ของอิริกสัน ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้บริโภค 50,097 คนใน 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก พบว่า มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคจากการมาถึงของ 5G ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องทราบและเตรียมการรับมือดังต่อไปนี้

 

1. ผู้บริโภคคาดหวังว่าอุปกรณ์ต่างๆ จะมีความอัจฉริยะ และรู้ใจมากขึ้น

ในสายตาผู้บริโภค อุปกรณ์ยุค 5G จะเปลี่ยนตัวเองจาก Wearable Devices (Wearable Device คืออุปกรณ์สวมใส่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องประดับติดตัว แต่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูล sync เข้ากับอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และ นาฬิกาที่เป็นอุปกรณ์โทรศัพท์ต่ออินเตอร์เน็ทในตัวหรือที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ได้ด้วย เช่น นาฬิกาสมาร์ทวอทซ์ ต่างๆ เป็นต้น) เป็น Awareable Devices (ไร้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เฉพาะ แต่เป็นอุปกรณ์ปกติในชีวิตประจำวัน) แทน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากผู้ช่วยดิจิทัลที่จะลงไปอยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้นมากขึ้น และทำให้มันใกล้ชิดกับมนุษย์ในทุกช่วงเวลา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้บริโภคกว่า 60% จะคาดหวังว่าเจ้าอุปกรณ์ Awareable Devices จะสามารถจับน้ำเสียง หรืออารมณ์ของประโยคได้ว่า เจ้าของกำลังมีอารมณ์เศร้าอยู่ อุปกรณ์จะสามารถตอบสนองโดยการแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือไต่ถามทุกข์สุขกันได้ไม่ต่างจากเพื่อนคนหนึ่ง ความรู้ใจยังไม่หมดแค่นั้น เพราะในกรณีที่ต้องจ่ายบิล ต้องซื้อของเข้าบ้าน ผู้บริโภคก็อยากฝากหน้าที่นี้ให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำแทนด้วยเช่นกัน

2. ผู้บริโภคคาดหวังว่าอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ จะทำตัวได้เหมือนสมาชิกคนหนึ่งของบ้าน

ถ้าบ้านที่มีสมาชิกหลายคน อาจไม่ต้องการฟีเจอร์นี้ เพราะแค่การแสดงความคิดเห็นกันเองของคนภายในบ้านก็มากพอแล้ว แต่สำหรับคนโสด หรือครอบครัวที่ไม่มีเด็ก บางทีการที่อุปกรณ์อัจฉริยะสามารถแสดงความคิดเห็น หรือโต้เถียงกันบ้างในบางเวลาก็อาจเป็นโมเม้นท์ที่ดีเช่นกัน

สิ่งที่การสำรวจชิ้นนี้พบก็คือ 65% ของผู้บริโภคโอเคหากผู้ช่วยอัจฉริยะจะเถียงกันเองบ้าง ซึ่งตัวอย่างอาจเป็น Google Maps เถียงกับ Apple Maps ว่าขับรถไปทางไหนจะเร็วกว่ากัน หรือ Apple Watch เถียงกับ Fitbit ว่าการวัดอัตราการเต้นของหัวใจของใครกันแน่ที่วัดค่าได้ถูกต้อง เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน การยอมให้ผู้ช่วยอัจฉริยะได้มีตัวตนในบ้าน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนว่า อนาคตคนเราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นก็เป็นได้

3. ผู้บริโภคอยากใช้ AR/VR เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

ในการสำรวจพบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการแว่น หรือถุงมือที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AR/VR โดยเขาจะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต เช่น สอนงานช่าง หรือสอนทำอาหาร เป็นต้น

4. ผู้บริโภคคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์ดูแลโลกได้ดีกว่าเดิม

เทคโนโลยีหลายๆ อย่างก็ต้องอาศัยเวลากว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่ลดการปล่อยก๊าซพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือการพัฒนาเนื้อวัวสังเคราะห์ที่ทำจากผักและให้รสชาติที่ดีไม่ต่างกับเนื้อปกติทั่วไป ดังนั้น โลกในยุคหน้าจะมีเครื่องมือจำนวนมากเข้ามาช่วยปรับพฤติกรรมผู้คน และทำให้เห็นถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกได้ชัดเจนกว่าเดิม

5. ผู้บริโภคอยากได้ตัวตนดิจิทัล

ไม่ใช่แค่ผู้ช่วยดิจิทัล แต่เป็นการสร้างตัวตนดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี AR หรือ VR เพื่อสร้างภาพตัวแทนเสมือนจริงของผู้บริโภคขึ้นมา และให้ตัวแทนดิจิทัลเข้าร่วมประชุมสำคัญต่าง ๆ ได้จากระยะไกล โดยที่เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง ซึ่งมีผู้บริโภคถึง 48% คาดหวังว่าจะได้ใช้งานฟีเจอร์นี้ในอนาคต

มีข้อดีใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย โดยการสำรวจพบว่า โลกที่ไฮเทค (จ๋า) มากขึ้นนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคเผชิญ 3 ความท้าทายหลักๆ ดังนี้

1. การขอ consent จำนวนมากจากแอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์ต่างๆ

จริงๆ ทุกวันนี้ก็มากอยู่แล้ว ซึ่งผู้บริโภค 51% บอกว่า รำคาญที่จะต้องตอบข้อความ “ตกลง” ในเมนูบอกซ์ที่ปรากฎก่อนที่จะให้ใช้งานได้

2. ใช้สมองน้อยลง

ความอัจฉริยะและความอัตโนมัติยังทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ผู้บริโภคในอนาคตจะไม่ค่อยได้ใช้ความคิดมากเท่าไรนัก และพบว่ากว่า 31% มองว่าอาจต้องใช้บริการ Mental Gym สำหรับฝึกคิดกันใหม่เลยทีเดียว

3. อาจเสียความเป็นส่วนตัว หรือถูกสอดแนมโดยผู้ช่วยดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันต่างๆ

โดยทุกวันนี้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ตนเองถูกลอบเก็บข้อมูลไปอย่างเงียบๆ แม้จะไม่ได้เปิดแอปพลิเคชันใดๆขึ้นมาใช้ก็ตาม ความเป็นส่วนตัว หรือข้อมูลบางอย่างที่ไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ จะถูกลุกล้ำมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากการที่เราใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆในชีวิตประจำวัน

การคาดการณ์ชิ้นนี้ อาจทำให้เห็นภาพของโลกยุคต่อไปที่มนุษย์ถูกอัลกอริธึมเข้ามาขอแบ่งพื้นที่อาศัย และตอบแทนด้วยการอาสาทำงานต่างๆให้ โดยมนุษย์อาจต้องแลกกับการถูกสอดแนม หรือการติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาผ่านระบบเครือข่าย รวมถึงอาจถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งในความท้าทายนี้ เชื่อว่า จะมีภาคธุรกิจจำนวนมากที่เห็นโอกาสขยายการเติบโตจากรายงานชิ้นนี้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน ความเจริญของเทคโนโลยีคงรบกวนและอาจจะสร้างความเครียดให้กับการดำเนินชีวิตปกติของคนเดินดินธรรมดาอย่างเราๆท่านๆได้เช่นกัน จากที่ยืนอยู่ข้างๆกันเราแทบจะไม่ได้มองหน้ากันอยู่แล้ว เพราะการสื่อสารต่างๆล้วนผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น ไลน์แชทต่างๆ ต่อไปนอกจากจะฝึกสมอง คนยุคหน้าอาจจะจำเป็นต้องฝึกพูดเป็นระยะ ตามท้องถนนคงเต็มไปด้วยมนุษย์ออติสติก เป็นแน่แท้ทีเดียวค่ะ

ที่มา : กรมสุขภาพจิต


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar