เลิกหิ้วถุงพลาสติก แปลงขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยปลูกผักสวนครัว

เลิกหิ้วถุงพลาสติก แปลงขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยปลูกผักสวนครัว

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้การรับประทานอาหารในบ้านของแต่ละครอบครัวเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ปัจจุบันไม่ว่าในชนบทหรือในเมืองใหญ่มักไม่นิยมทำอาหารรับประทานเอง แต่ส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปหรือซื้อแกงถุงจากตลาดหรือห้างสรรพสินค้ามารับประทานที่บ้านแทน

          หลังการรับประทานแต่ละมื้อจะมีเศษอาหารจำนวนมากและมักจะเทเศษอาหารเหล่านั้นใส่ถุงพลาสติก
หูหิ้ว หรือถุงก๊อบแก๊บ ก่อนนำไปทิ้งรวมกันในถังขยะหน้าบ้าน และกว่าที่รถเก็บขยะจะมาเก็บไปจัดการต่อก็อาจใช้เวลาข้ามวัน หรือนานเป็นสัปดาห์ เศษอาหารที่ทิ้งไปจึงเน่าเหม็น อีกทั้งปนเปื้อนกับขยะอื่น ๆ ทั้ง ๆ
ที่สามารถคัดแยกขยะบางประเภทไว้ใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ถุงพลาสติกชนิดร้อน ขวดพลาสติก ฯลฯ

          เมื่อไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง กรณีมีซาเล้งมาคุ้ยหาขยะขายหรือถูกสุนัขคุ้ยเขี่ย ถังขยะหน้าบ้านหรือบริเวณริมถนนจึงเรี่ยราดและส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่วไป ส่งผลให้ถังขยะสาธารณะกลายเป็นสุสานเพาะเชื้อโรคประจำชุมชนไปโดยปริยาย  

          ด้วยเหตุนี้เอง “ลุงดำ” สุธี พรหมแดน ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงมีแนวคิดการจัดการขยะอินทรีย์โดยครัวเรือน ด้วยการนำขยะอินทรีย์เหลือทิ้งในแต่ละวันไปทำปุ๋ยสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ขณะเดียวกันยังรณรงค์ให้มีการเลิกใช้ถุงพลาสติก พร้อม ๆ กับชักชวนให้คนในชุมชนหันมาทำอาหารรับประทานเอง หรือหากต้องซื้ออาหารจากตลาดก็ให้นำภาชนะส่วนตัวไปด้วย แทนการหิ้วถุงพลาสติกกลับมาบ้าน

          “ช่วงเริ่มต้นแรก ๆ จะแจกกระป๋องพลาสติกมีฝาปิดมิดชิดให้คนในชุมชน ไว้สำหรับทิ้งขยะเศษอาหาร แล้วกำหนดวันเก็บรวบรวม เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ สำหรับใช้รดต้นไม้ในชุมชนและที่บ้านตัวเอง” ลุงสุธี เล่าถึงแนวคิดการจัดการขยะอินทรีย์

          การทำถังหมักขยะอินทรีย์ตามวิธีการของลุงดำไม่ได้มีกระบวนการที่ยุ่งยากหรือซับซ้อน เพียงแค่นำถังน้ำ ขนาดบรรจุ 200 ลิตร เจาะรูและร้อยท่อระบายอากาศออกสองด้าน และนำเศษใบไม้หรือหญ้าแห้งปูพื้นไว้ก้นถัง จากนั้นแต่ละวันสามารถนำเศษขยะอินทรีย์ประเภทเศษผักผลไม้ใส่ลงไป สลับกับเทเศษใบไม้หรือหญ้าแห้งทับลงไปอีกชั้น ทำสลับกันระหว่างแห้งและเปียก 2-3 วันครั้ง จนเกือบเต็มถัง ปล่อยทิ้งไว้ 2- 3 เดือน จะได้ปุ๋ยหมักคุณภาพตามธรรมชาติ กรณีเทกองลงหมักบนพื้นก็ทำในลักษณะเดียวกัน

          สำหรับการทำน้ำหมักชีวภาพจะใช้สูตร 4 : 1 : 1 : 10 นั่นคือนำเศษผลไม้ใส่ถังขนาดพอเหมาะ ประกอบด้วย เปลือกสับปะรดหรือเศษผลไม้อื่น ๆ 4 กิโลกรัม น้ำ EM 1 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และน้ำ 10 กิโลกรัม ปล่อยทิ้งไว้ 15 วัน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้รถต้นไม้และพืชผัก หากมีปริมาณขยะมากก็จะเพิ่มอัตราส่วนการหมักให้มากขึ้น

          ปัจจุบัน “ลุงดำ” ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ณ ชุมชนบ้านดอน หมู่ที่ 4 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์แก่บุคคลและครัวเรือน โดยนำขยะเศษจากคนในชุมชนมาทำปุ๋ยหมัก ด้วยแนวคิด 1 ครัวเรือน 1 ถังเติมไม่เต็ม

          “ปุ๋ยหมักที่เราทำจะได้คุณภาพดี เพราะมีธาตุอาหารจากซากจุลินทรีย์ ก่อนจะบรรจุถุงจะใช้ตาข่ายร่อนเอาเศษกระดูกหรือเศษไม้ออกเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีความละเอียด เหมือนการร่อนทราย นำไปใส่ถุงแล้วดูดีมีราคา ซึ่งขายอยู่กิโลกรัมละ 10 บาท แต่การขายไม่ใช่เป้าหมายหลัก จึงไม่ได้วางขายตามตลาด แต่จะไปออกบูทตามคำเชิญบางงาน เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านนำขยะเหลือทิ้งในครัวเรือนแต่ละวันไปทำปุ๋ยหมักเอง

          “ส่วนปุ๋ยที่ขายได้จากการออกบูทจะนำเงินมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หากส่วนราชการมาขอไปปลูกต้นไม้ เช่น อบต. ก็ให้ฟรี ปีหนึ่งๆ ผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 1 ตัน ต่อไปจะพยายามผลิตให้น้อยลง แต่จะเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนนำความรู้ไปทำเอง ผมจึงรับไปเป็นวิทยากรตามคำเชิญของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้มากกว่าการทำเอง การหาคนมาช่วยทำก็ยาก เนื่องจากเป็นงานอาสา”

          คนตัวเล็ก ๆ อย่าง “ลุงดำ” คาดหวังว่า หากทุกมื้ออาหารของคนไทย ไม่หิ้วถุงพลาสติกเข้าบ้าน และ สามารถจัดการเศษอาหารเหลือกินอย่างถูกต้องตามหลัก Zero Waste เชื่อได้ว่าสิ่งแวดล้อมแต่ละชุมชนจะดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดขยะถุงพลาสติกลงได้เกือบครึ่งหนึ่งจากปริมาณที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar