ข้อดีของการเข้าสู่ Sport City เมืองกีฬาที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมืองกีฬา (Sport City) อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) แผนพัฒนาประเทศที่รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยในทุกจังหวัดมีสุขภาวะที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสามารถนำกิจกรรมการกีฬามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มมูลค่า และนำพามาซึ่งรายได้หมุนเวียนภายในประเทศที่มากขึ้นตามมา เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ควบคู่ไปกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ข้อดีของ Sport City มอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
    “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” ท่อนคำร้องของเพลงหนี้ยังใช้ได้ดีเสมอ และยิ่งเป็นเมืองแห่งการกีฬา ยาวิเศษขนานนี้จะยิ่งเพิ่มสรรพคุณความวิเศษให้มากขึ้นไปอีก โดยข้อดีของการเข้าสู่เมืองกีฬา (Sport City) ประกอบไปด้วย
๑.    เมืองมีพื้นที่ให้บริการการกีฬาและสร้างคุณภาพชีวิต (Sport for Life) 
ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะได้ใช้บริการ ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่ได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนเที่ยวชม จนกลายเป็น Sport Community สร้างบรรยากาศการออกกำลังกายจนสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้กีฬากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สถานที่ออกกำลังกายอย่างสนามกีฬากลาง สวนสาธารณะ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ถูกพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พร้อมรองรับการแข่งขันในทุกรูปแบบ และทุกระดับ เพื่อให้พร้อมรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ 
เมื่อเมืองมีสถานที่พร้อมออกกำลังกายแล้ว กิจกรรมการกีฬาต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งกิจกรรมเกมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการกีฬาให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ในรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นการเพิ่มความสนใจและการมีส่วนร่วมให้กับผู้คนในพื้นที่มากขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ และปัญญา
๒. สร้างและพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Sport for Excellence)
เมื่อพื้นที่พร้อม ความรู้ด้านการกีฬาพร้อม ข้อดีอีกหนึ่งประการของการเข้าสู่เมืองกีฬา คือ สามารถสร้างและพัฒนาคนในพื้นที่ให้กลายเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ ภารกิจเฟ้นหาผู้มีพรสวรรค์ด้านกีฬา หรือผู้ที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่น ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักกีฬามืออาชีพ 
ดังนั้นการให้การศึกษาด้านกีฬาที่ถูกต้อง ถือเป็นสิ่งที่เมืองกีฬาทุกเมืองจำเป็นต้องมี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการกีฬา เกิดสถาบันการกีฬาประจำเมืองที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกีฬา ศูนย์พัฒนานักกีฬา สมาคม หรือสโมสรกีฬาประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตนักกีฬามืออาชีพตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา จนท้ายที่สุดสามารถสร้างนักกีฬาที่มาจากประชาชน เด็กและเยาวชนในพื้นที่ พัฒนาจนมีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวเข้าสู่วงการกีฬาในระดับโลกได้อย่างมีศักยภาพ มีทักษะและสมรรถนะทางกีฬาสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
๓. สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติได้
เศรษฐกิจที่เติบโต คือ ข้อดีที่เป็นผลพลอยได้เมื่อเข้าสู่การเป็นเมืองกีฬา ทั้งอุตสาหกรรมการกีฬา การเปิดร้านค้า รวมไปถึงศูนย์บริการการกีฬาที่ครบวงจร และกิจกรรมกีฬาเชิงท่องเที่ยว ล้วนนำพามาซึ่งรายได้มหาศาลสู่ชุมชนเมืองกีฬา 
ยกตัวอย่างเช่น การจัดการแข่งขันมาราธอนที่เปิดกว้างให้นักวิ่งสายอึดจากทั่วทุกมุมโลกมาลงแข่งขัน ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว นักกีฬายังสามารถท่องเที่ยวต่อภายในเมือง หรือระแวกเมืองที่ได้อีกด้วย กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต ร้านค้า และสถานประกอบการต่าง ๆ เกิดรายได้จากการให้บริการที่พัก การเดินทาง บริการอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดไปจนถึงการให้บริการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่นักกีฬา กองเชียร์ และแขกผู้มาเยือน
    ทั้งนี้ข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ และร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน การศึกษาด้านการกีฬาต้องถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาในระดับต่าง ๆ ปลูกฝังความรู้ในการบริหารจัดการกีฬา นอกเหนือไปจากการกีฬาเพื่อการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ทุกเมืองกีฬาในประเทศต้องสามารถเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับโลกได้อย่างยิ่งใหญ่และทันสมัย เป็น Sport City ที่สมบูรณ์แบบ และครบวงจร สามารถจัดกิจกรรมสร้างรายได้ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกภูมิภาคให้ดีขึ้นได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม 
อ้างอิง: สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_sport/download/article/article_20170522163827.pdf
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar