ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือรัฐบาล กระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคนภายในปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย แถลงข่าวภายหลังที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกันของหอการค้าไทยและภาครัฐ หลังจากวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เพื่อการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือประมาณ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้  รวมถึงได้มีการหารือถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ให้ดำเนินธุรกิจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดทีมต่าง ๆ สนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ 

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้หอการค้าไทยและคณะกรรมการฯ เข้าพบเพื่อหารือถึงการช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย โดยทางหอการค้าไทยมีแนวทางที่จะสนับสนุนทำงานร่วมกับรัฐบาล ภายใต้นโยบาย Connect the dots ที่จะไปหาแนวทางในการเชื่อมโยงกับจุดต่าง ๆ เพื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนของหอการค้าไทย ภาคเอกชนและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนสมาคมธนาคารไทย  โดยแนวทางของหอการค้าฯ มีแนวทางหลัก คือการเร่งรัดในการหาวัคซีนให้มีจำนวนมากที่สุด และสามารถที่จะกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันในส่วนของภาครัฐมีการทำงานอย่างเต็มที่ และมีการวางแผนเตรียมการที่จะจัดหาวัคซีนเพื่อสามารถฉีดให้กับประชาชนได้ 70% ภายในปีนี้

 

ทั้งนี้ แนวทางในการจัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงนั้น ในส่วนของหอการค้าไทยมีการจัดทีมงาน 4 คณะ ในการจัดทำแผนช่วยกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามา ได้แก่ ทีมที่ 1 ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน(Distribution and Logistics) โดยจะมีการจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อลดข้อจำกัดของภาครัฐในเรื่องดังกล่าวโดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ถึงวันละ 5 หมื่นกว่าคน โดยภาครัฐดำเนินการ 3 หมื่นคนและภาคเอกชนดำเนินการ 2 หมื่นคน รวมไปถึงการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ก็จะใช้การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เช่นเดียวกัน โดยทีมที่ 2 ทีมการสื่อสาร (Communication) สนับสนุนการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง เกิดความมั่นใจในการที่จะมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม ทีมที่ 3 ทีมเทคโนโลยีและระบบ (IT Operation) เป็นการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยในการลงทะเบียนนัดล่วงหน้าในการที่จะฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น และทีมที่ 4 ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม (Extra Vaccine procurement) ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบเต็มที่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายในเรื่องนี้ และยืนยันว่าภายในปีนี้จะจัดหาวัคซีนให้มีจำนวนที่เพียงพอสำหรับฉีดให้ประชาชนให้ได้ถึง 70% หรือเท่ากับ 100 ล้านโดสอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนพร้อมยินดีให้การสนับสนุนการทำงานกับรัฐบาลอย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะ SME เข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุน โดยภาคเอกชนและสถาบันการเงินรวมทั้งคู่ค้า จะมีการจัดระบบในการเชื่อมโยงเพื่อทำให้การกู้และการปล่อยเงินกู้ให้กับ SME  ของธนาคาร ได้เกิดผลอย่างเต็มที่ โดยเริ่มคลัสเตอร์แรกคือกลุ่มค้าปลีก และจะมีการขยายผลไปสู่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันเร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือ Ease of Doing Business

 

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนของภาครัฐที่จะเข้ามา 100 ล้านโดสในปีนี้ ซึ่งจะครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน โดยในส่วนของภาคเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนในด้านการกระจายการฉีดให้กับประชาชน รวมถึงการวางแผนจัดสถานที่สำหรับรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนถึงห้วงเวลาและสถานที่ในการเข้ามารับบริการฉีดวัคซีน โดยจะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ SME ของสมาคมค้าปลีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำ Sand Box ขึ้นมา โดยมีข้อมูลลูกค้าประมาณ 6,000 ราย ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งพิจารณาอยู่ คาดว่ามี 3,000 รายที่รอการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ และอีก 1,000 ราย จะอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นตัวอย่าง หาก Sand Box นี้ประสบความสำเร็จจะกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ และธนาคารพาณิชย์อีกด้วยโดยจากการสุ่มทำตัวอย่างในเฟสแรกพบว่าประมาณร้อยละ 70 จะเป็น SME ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้รับการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าในช่วง 99 วันแรกจะดำเนินการให้ได้ถึง 1 แสนราย 

 

นอกจากนี้ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนเข้ามา 100 ล้านโดส มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเร็วที่สุด โดยภาคเอกชนนำโดยประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ประสานศูนย์การค้า และสำนักงานใหญ่ของบริษัทหลาย ๆ แห่งที่มีพื้นที่เพียงพอ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่คัดเลือกร่วมกับทีมแพทย์ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการคัดเลือกมา 14 แห่ง จาก 66 บริษัททั่วกรุงเทพมหานครที่เสนอตัวเข้ามา โดยจะสามารถช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้วันละ 2 หมื่นคน อีกทั้ง หากมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มจะสามารถเพิ่มกำลังการฉีดวัคซีนได้เพิ่มถึงวันละ 3 หมื่นคน ในขณะเดียวกันยังมีห้างค้าปลีกอีก 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ให้เร็วที่สุด 
 

                                   --------------- 
 

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา : 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
รายการยอดนิยม