สธ.ย้ำผู้สูงอายุหากติดโควิด 19 เสี่ยงอาการรุนแรง ขอคนในครอบครัวเข้มมาตรการป้องกัน

          กระทรวงสาธารณสุขย้ำ ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่อาการรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากคนในครอบครัว ให้เข้มมาตรการป้องกันซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำได้เองและดีที่สุด ส่วนวัคซีนนำเข้าขณะนี้มี 1 บริษัท    อยู่ระหว่างตรวจสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย คาดได้รับการอนุญาตใช้แบบฉุกเฉินภายในสัปดาห์นี้

          วันนี้ (18 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข   จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2564 (ณ เวลา 24.00 น.) ผู้ป่วยยืนยันสะสม 8,186 ราย วันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 369 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 357 ราย เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันตัว 12 ราย กลับบ้านได้ 191 ราย รวมกลับบ้านสะสม 5,266 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 2,910 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 15 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.12 ซึ่งอยู่ในอัตราการที่ต่ำเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก เนื่องจากมีความพร้อมด้านครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เตียง บุคลากร ความพร้อมโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน/ โรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมาตรการรับคนไทยกลับเข้าประเทศถูกกฎหมาย นำเข้าระบบกักกันตัว ป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศ

           “วันนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชม ขอบคุณชาว จ.สมุทรสาคร และทีมงานสาธารณสุขที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างหนักในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทำให้พบผู้ป่วยในชุมชนไม่มีการกระจายเป็นวงกว้าง หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้คาดว่า 1-2 สัปดาห์จะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ”นพ.โอภาส กล่าว

          นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศกลุ่มใหญ่อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปยัง 43 จังหวัด โดยมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รวม จ.สมุทรสาคร 568 ราย เป็นผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อร้อยละ 26 และจากการค้นหาเชิงรุก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดกลุ่มใหม่ๆ ตามมา เช่น บ่อนการพนันในภาคตะวันออก มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,491 คน พบจากการค้นหาเชิงรุกมากถึงร้อยละ 63 กลุ่มที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงได้กระจายไปหลายจังหวัด 283 ราย พบจากติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดร้อยละ 59  และกลุ่มสนามไก่ชน จ.อ่างทอง ที่พบผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อถึงร้อยละ 73 สำหรับกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 593 ราย ทั้งนี้ ยังคงเน้นเฝ้าระวัง คัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ฝั่งตะวันตก สถานบันเทิง การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อจนครบ 14 วัน ที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชน จะทำให้สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

          สำหรับครอบครัว ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดและติดเชื้อสูง เช่น การติดเชื้อในครอบครัวในชุมชนวัดสิงห์ กทม. ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในอีกหลายครอบครัว, ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกัน, วินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงไปติดในสถานที่ทำงาน รวมทั้งสิ้น 34 คน มีจุดสำคัญในการแพร่เชื้อ คือ ความเสี่ยงของคนในครอบครัว ในร้านอาหารสถานที่ขายอาหาร สถานที่ทำงาน ซึ่งเกิดจากการไม่สวมหน้ากากอนามัยและการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น ขอความร่วมมือสถานประกอบการเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้  

          “การระบาดลอกใหม่ยังพบว่า ผู้เสียชีวิต 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว กลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ขอความร่วมมือ ลูก หลานและคนในครอบครัว ระมัดระวัง เมื่อไปสถานที่เสี่ยง เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิง หรือทำกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยง ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเข้มมาตรการ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ จะเป็นการลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุและคนในครอบครัวได้ ในส่วนสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือบ้านพักคนชรา ต้องมีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งผู้ที่เข้าเยี่ยมและเจ้าหน้าที่ดูแล ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากาก 100 % ซึ่งผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้ดี”นพ.โอภาส กล่าว

          สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับให้กับประชาชนไทย มีระบบการตรวจสอบที่ดี ขณะนี้บริษัท 1 แห่งยื่นเอกสารให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ตรวจสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย คาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้แบบฉุกเฉินภายในสัปดาห์นี้ และนำไปฉีดคนไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ตามแผนที่กำหนด โดยจะมีระบบติดตามอาการหลังฉีดวัคซีน หากพบอาการผิดปกติ หรืออาการไม่พึงประสงค์ จะมีคณะกรรมการรวบรวมข้อมูล ประวัติการเจ็บป่วยพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็จะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนต่อไป ถ้าสงสัยไม่แน่ใจจะหยุดการฉีดวัคซีนไว้ก่อนจนกว่าจะหาสาเหตุได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชนไทย คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยควบคู่กัน

          อย่างไรก็ตาม การป้องกันส่วนบุคคล การใส่หน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ยังคงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันที่ทั่วโลกยอมรับ วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งช่วยเสริมให้การป้องกันควบคุมโรคดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ขอเชิญชวนประชาชน โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ไม่มีการระบุตัวตน ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผลการติดตามผู้สัมผัสจากแอปพลิเคชั่นหมอชนะ ตั้งแต่วันที่ 9 -16 มกราคม 2563 คนติดตามผู้สัมผัสได้ 4,232 ราย  โดยข้อความแจ้งเตือนมี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา แจ้ง 3 ครั้ง ห่างกัน 30 นาที  แนะนำการปฏิบัติตัวและติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ หรือหากมีข้อสงสัย โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

--------------------

ที่มา : https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/152707/


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
รายการยอดนิยม