กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้างสถานประกอบการ รับต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดระยะเวลายื่นบัญชีรายชื่อและแจ้งข้อมูลบุคคลต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรก ปรากฏว่ามีคนต่างด้าวขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 654,864 คน แบ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง 596,502 คน และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง 58,362 คน 

ขอย้ำนายจ้าง/สถานประกอบการและคนต่างด้าว ที่ยื่นบัญชีรายชื่อตามขั้นตอนที่ 1 แล้ว  คนต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง กระทรวงสาธารณสุขจะส่งผลการตรวจโรคและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th 

โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และนายจ้างพาคนต่างด้าวไปขอจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธันวาคม 2564 ในส่วนกลุ่มคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง หลังผ่านการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้ไปขอจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์ และหลักฐานการชำระเงิน ภายใน 13 กันยายน 2564 และนายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีคนต่างด้าวทำงานในกิจการประมงทะเลต้องไปยื่นขอทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด เป็นขั้นตอนสุดท้าย 

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จะดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ

 

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210223105228969


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar