สกัดทุเรียนอ่อนต่อเนื่อง เข้มมาตรการส่งออก มูลค่าซื้อขายทั้งในและต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าทุเรียนภาคตะวันออก  ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรีและระยอง เมื่อปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ปี 2564 ทุเรียนให้ผลผลิต 575,542 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยร้อยละ 5  นี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้วและทยอยออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงแรกจะเป็นทุเรียนพันธุ์เบา เช่น พันธุ์กระดุม พวงมณี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น  (90 – 95 วัน) และจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวกว่า  (110 – 120 วัน)  ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ 

สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยส่วนใหญ่เป็นแบบเหมาสวนและมีเกษตรกรบางส่วนที่ตัดผลผลิตแล้วนำไปจำหน่ายที่ล้งเอง โดยราคาผลผลิตเกรดส่งออก (เกรด AB) อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทุเรียนมูซังคิงยังไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเฉพาะกลุ่มในราคาระหว่าง 450 – 650 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน ไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักมีการประกาศให้วันที่ 10 เมษายน  2564 เป็นวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด อีกทั้งยังมีการตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนอ่อน และเข้าตรวจล้ง ซึ่งหากพบการตัดทุเรียนอ่อน และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐาน จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยังได้เน้นมาตรการควบคุมการส่งออกทุเรียนปลอดเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลผลิตทุเรียนไทยซึ่งมีมูลค่าซื้อขายทั้งในและต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210420140531633


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar