กรมอนามัย เคลื่อนแผน HNAP เป็นกรอบแนวทางการรับมือผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการสัมมนาวิชาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ว่า Climate Change เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น องค์การอนามัยโลกคาดว่าในปี 2613 จะมีประชาชนไทยกว่า 2.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น

Global climate risk index 2021 จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั้งในปัจจุบันและมีผลถึงลูกหลานในอนาคต หากประเทศไทยไม่มีการเตรียมการใดๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและไม่มีการเตรียมพร้อมด้านการปรับตัว อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2564 – 2573 (HNAP) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย H : Health Literacy การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทักษะของประชาชนในการปรับตัวและจัดการตนเองต่อภัยสุขภาพ N : Networking การบูรณาการศักยภาพ ทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการสาธารณสุขจาก Climate Change อย่างเข้มแข็ง A: Advocacy การเสริมสร้างความพร้อมของประเทศด้านการสาธารณสุข จาก Climate Change รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และ P: Public health preparedness การพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือ Climate Change อย่างมีมาตรฐานสากล เป้าหมายเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ มีทักษะในการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230130143831761


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar