ระบบการเงินไทยในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน ในงานสัมมนา 50 ปี เครือเนชั่น ว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาสินทรัพย์รวมธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 11 ล้านล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ในสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมเพิ่มขึ้น 5 ล้านล้านบาท จาก 2 ล้านล้านบาท และตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท จาก 6 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าบทบาทของธนาคารพาณิชย์มีมากขึ้น รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ สะท้อนจากปริมาณการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงค์กิ้งอยู่ที่ 9,610 ล้านรายการต่อปี จาก 95 ล้านรายการต่อปี เพิ่มขึ้น 100 เท่าจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

เมื่อมองไปข้างหน้าคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอีก อาทิ มีซัพพลายเออร์ใหม่เข้ามาจากหลายทิศทางเพื่อสร้างบทบาททางการเงิน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ให้เข้าถึงได้แบบทุกที่ทุกเวลา การเชื่อมต่อจาก 4G สู่ 5G และการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในตลาดโลก เป็นต้น ขณะเดียวกันจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงกระแสกรีนของโลกด้วย ซึ่งอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ระบบการเงินของไทยขณะนี้มองว่าใช้งานได้อย่างสะดวก ค่าเงินยังคงมีเสถียรภาพ ส่วนจุดอ่อนของไทยคือการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ซึ่งร้อยละ 60 ของ SMEs ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อผ่านระบบสถาบันการเงิน รวมถึงร้อยละ 86 ของครัวเรือนไทยยังมีหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ จากเดิมที่ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง ส่วนแนวทางของ ธปท. ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงให้สมดุลยิ่งขึ้นคือ การเปิดเผยข้อมูลให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น /เพิ่มการแข่งขันที่กว้างขึ้น โดยเข้าถึงซัพไพเออร์ต่างๆ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ซัพไพเออร์เข้ามาต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้การศึกษา Retail CBDC ของ ธปท. ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับระบบการเงินในอนาคตด้วย โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ที่มา  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210913153947453


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar