กระทรวงการคลังชงมาตรการด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

  คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน ดังนี้

        มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ตาม พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยให้ยื่นรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

        ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงิน 10,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

        โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 

        เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

        โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลักประกันสินเชื่อเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการสูงสุดไม่เกิน 50 ล้าน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

        ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือสินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

        ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ได้ดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นครั้งละ 6 เดือน และสามารถขยายได้สูงสุดไม่เกินเดือนธันวาคม 2564 สำหรับกลุ่มลูกค้าปกติ ในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ยังมีการค้างชำระหรือความสามารถชำระหนี้ลดลง จะมีการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้เป็นการเฉพาะราย เช่น ปรับลดค่างวดผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละกิจการ

        บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงิน 5,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท) โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการเป็นร้อยละ 35 (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 30) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs

        ในระยะเวลา 2 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564

        ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายย่อย วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564    

        ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการ SMEs ประเภทสินเชื่อแฟลตโดยมีแนวทาง ได้แก่ 1.ลดภาระการผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ลูกหนี้สามารถพิจารณาเลือกแผนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง 2. พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยต่อไปอีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่โครงการไม่มีรายได้จากอาคารแฟลตให้เช่าอันเนื่องมาจากกิจการของลูกหนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

        ธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน โดยโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210113160356952


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar