โรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด..ภัยซ่อนเร้นที่ไม่ควรมองข้าม

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด เมื่อสังเกตเห็นขาไม่เท่ากัน ขยับได้น้อย หรือเมื่อถึงวัยเดินแล้วเด็กเดินกระเผก ตัวส่ายโยก เดินได้ช้า สังเกตเห็นก้นยื่นหลังแอ่นมาก อาจสงสัยว่ามีข้อสะโพกหลุดซ่อนเร้นอยู่
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ในเด็กทารกซึ่งยังเดินไม่ได้มักดูได้ยาก อาการจะแสดงชัดขึ้นเมื่อเด็กเข้าวัยเดิน โดยเฉพาะถ้ามีประวัติว่าคลอดท่าก้น พ่อแม่ควรสังเกตความเท่ากันของขา การขยับที่ดูน้อยผิดปกติ และถ้าลูกเข้าสู่วัยเดินได้แล้วแต่ท่าเดินผิดปกติ การเดินกระเผกตัวส่าย หรือนั่งขัดสมาธิไม่ได้ กาขาได้ไม่สุด ก้นยื่นหลังแอ่น ถ้าสงสัยควรนำเด็กมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจ เพราะหากปล่อยไว้นานสะโพกนั้นอาจเสียหาย ส่งผลให้เดินลำบากและเจ็บปวดในอนาคต
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน อัตราเฉลี่ยการพบโรคประมาณ 1 ต่อ1000 คน ของเด็กทารกแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติคลอดท่าก้น โรคนี้มักวินิจฉัยได้ล่าช้า เนื่องจากข้อสะโพกเป็นข้อที่อยู่ลึกถูกห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อหลายชั้น จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ถ้าสะโพกหลุดข้างเดียวอาจสังเกตเห็นว่าขาไม่เท่ากัน แต่ถ้าสะโพกหลุด 2 ข้าง จะสังเกตยากกว่า ให้สังเกตุการขยับของขา ถ้าสะโพกหลุดมักกางขาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าสะโพกเคลื่อนแต่ยังไม่หลุด อาการจะดูปกติ ดังนั้น ถ้าเด็กคนนี้คลอดท่าก้น ควรปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญตั้งแต่หลังคลอดทุกคน
นายแพทย์วีระศักดิ์ ธรรมคุณานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกและข้อ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการรักษาโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด สามารถรักษาได้ไม่ยาก ยิ่งวินิจฉัยได้เร็วยิ่งง่าย แต่หากปล่อยสะโพกหลุดไว้นาน หัวสะโพกและเบ้าจะเจริญบูดเบี้ยวจนแข็ง เนื้อเยื่อรอบๆจะยึดแข็ง ไม่สามารถนำสะโพกกลับเข้าที่ได้ การรักษาในช่วงวัยทารกซึ่งสะโพกยังเป็นกระดูกอ่อนเนื้อเยื่อยังนิ่ม การเอาหัวสะโพก เข้าที่มักทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ต้องใส่อุปกรณ์กางขาตลอดเวลา ประมาณ2 เดือน แต่ในกรณีที่ ไม่สามารถดึงสะโพกเข้าได้ การผ่าตัดเพื่อเอาสะโพกที่ และดามขาในท่ากางขาประมาณ 2 เดือน อาจแก้ไขได้
ในเด็กสะโพกเคลื่อนหลุดที่เดินได้แล้ว โอกาสในการใส่อุปกรณ์กางขาอย่างเดียว โดยไม่ผ่าตัดเป็นเรื่องยากขึ้นและยังรบกวนพัฒนาการการเดินของเด็กเพราะเด็กอาจต้องใส่ที่กางขานานหลายเดือน การผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ขวางในเบ้าออกจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จโดยใส่ที่กางขาต่อเพียง 2 - 3 เดือนหลังผ่าได้ แต่อย่างไรก็ตามในรายที่กระดูกสะโพกมีความผิดรูปมาก เบ้าสะโพกแบนมากอาจต้องเพิ่ม การตกแต่งกระดูกเบ้าสะโพกและหรือหัวสะโพกให้มั่นคงขึ้นก่อนใส่อุปกรณ์กางขา ผลข้างเคียงจาก การผ่าตัดแก้ไขสะโพกหลุดคือ การหลุดเคลื่อนซ้ำ ซึ่งป้องกันได้โดยแพทย์ที่มีประสบการณ์เพียงพอ อีกกรณีคือเด็กมีภาวะสะโพกหลุดซับซ้อนที่มีกล้ามเนื้อรอบสะโพกอ่อนแรงหรือหดเกร็ง แพทย์จะสามารถแนะนำความเสี่ยงได้ก่อนผ่าตัด การผ่าตัดแก้สะโพกเคลื่อนหลุดแต่เกิดที่ไม่ซับซ้อนให้ผลสำเร็จสูงกว่า
95 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5-6 ปี การผ่าตัดที่อายุมากกว่านี้มีความเสี่ยงว่าจะไม่สำเร็จได้มากขึ้น ผ่าเข้าที่แล้ว มีโอกาสหลุดซ้ำ ยิ่งถ้าเข้าวัยรุ่นแล้ว ความพยายามผ่าเอาสะโพกเข้าที่อาจทำให้เจ็บได้
เนื่องจากหัวสะโพกแข็งผิดรูปมากแล้วเมื่อเสียดสีกับเบ้าโอกาสเกิดกระดูกอ่อนสึกจนเจ็บปวดอาจเกิดขึ้น รวมทั้งเนื้อเยื่อรอบสะโพกที่แข็งเสียความยืดหยุ่นจนไม่สามารถให้ความมั่นคงต่อสะโพกได้ ที่ดีควรรู้และรักษาเร็วก่อนเข้าวัยประถม ผู้ปกครองเตรียมตัวและทำใจให้พร้อม กับวิธีการรักษา ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดจะเกิด 1-2 วันแรก หลังผ่าซึ่งแพทย์วิสัญญี จะใช้ยาควบคุมความปวดไม่ให้เกิดขึ้นมาก การดูแลหลังผ่าจะมีมาตราการ ตามขั้นตอนเพื่อป้องกันผลข้างเคียง การติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆหลังผ่า ความลำบากในการอยู่ในเฝือกกางขากว่า 2 เดือน เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมใจ เมื่อเอาเฝือกออก แล้วสะโพกยึด เป็นเรื่องปกติที่จะค่อยๆหายเองใน 3 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับอายุที่ผ่าตัด ยิ่งอายุมากยิ่งใช้เวลานาน

แหล่งที่มา : กรมการแพทย์


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ข่าวประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจ