​"รัดเกล้า" เผยฯ ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงข่าวร่วม​ และร่างบันทึกความเข้าใจฯ​ ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือ​ ไทย-บรูไน​

วันนี้ (23 เมษายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (23 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ ในการหารือกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ  
 
ประเทศไทยและบรูไนดารุสซาลาม มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน โดยมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน 2567
 
ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ     ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยมีสาระสำคัญเป็นการสรุปผลการหารือระหว่างผู้นำของทั้ง 2  ประเทศ และเน้นย้ำถึงการกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค เช่น ด้านเศรษฐกิจ ในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ฮาลาล ซึ่งจะส่งเสริมในด้านที่ประเทศตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการเกษตร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2567 นี้ ด้านการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยสนับสนุนให้นักลงทุนจากทั้งสองประเทศมีการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
 
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลของสุลต่านและยัง ดี-เปอร์ตวน แห่งบรูไนดารุสซาลาม
 
ซึ่งการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย – บรูไนดารุสซาลาม โดยเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคี การส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรูปแบบที่มีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวมุสลิม การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจไมซ์ [การท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 4 ธุรกิจ MICE ได้แก่ ธุรกิจการจัดประชุมขององค์กร (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) การจัดประชุม นานาชาติ (Conventions) และการจัดแสดงสินค้า (Exhibitions)] ​ และการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด การยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการประสานงานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินระหว่างสองประเทศ

ที่มา : รัฐบาลไทย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar