แล้งนี้ไม่แล้งน้ำใจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยว เล็งภาคใต้จะกระทบหนัก สั่งการทุกหน่วยงานวางแผนบริหารการทำงานอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือ บรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงทีและรายงานนายกรัฐมนตรีทุกระยะ เพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสม 
นายกฯ โพสต์ ห่วงภัยแล้ง เป็นวาระเร่งด่วน
   นายกฯ โพสต์ Facebook และ X ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในช่วงนี้ พบว่า หลายพื้นที่เจอภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้แหล่งน้ำดิบเพื่อทำน้ำประปาแห้งขอด จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยทหาร ช่วยลำเลียงน้ำจากแหล่งอื่นมาช่วยแก้ปัญหา และหากพื้นที่ไหนพอที่จะเจาะน้ำบาดาลได้ ขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการ และขอให้หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะหน่วยทหารพัฒนา เร่งขุดลอกคูคลองเพื่อให้เตรียมพร้อมรองรับน้ำสำหรับทำการเกษตร รวมถึงให้หน่วยทหารร่วมช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีเกิดพายุฤดูร้อนด้วย
กรมชลฯ เผยโค้งสุดท้ายภัยแล้ง น้ำต้องเพียงพอทุกกิจกรรม
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (25 เม.ย. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 42,673 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,553 ล้าน ลบ.ม. (46% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 23,159 ล้าน ลบ.ม. (93%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,337 ล้าน ลบ.ม. (96%)   ในส่วนของสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศมีการทำนาปรัง 9.07 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 5.68 ล้านไร่
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด และเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน 
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar