ไข้เลือดออกน่าห่วง เน้นย้ำชุมชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นไข้สูงอย่าเสี่ยงซื้อยากินเอง

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้เริ่มน่าเป็นห่วง หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สคร.9 นครราชสีมา ขอเน้นย้ำให้ประชาชนและชุมชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค จะสามารถลดการแพร่เชื้อไข้เลือดออกในชุมชนได้ หวกป่วยเป็นไข้เลือดออกไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอลตามขนาดยาที่กำหนด

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 7 มกราคม –19 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,297 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 678 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 261 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 3) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 187 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 171 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 0-4 ปี

         จากกราฟข้อมูลการเฝ้าระวังค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในเขตสุขภาพที่ 9 ข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคม  2566 ถึง 19 เมษายน 2567 (สำรวจ 54 ชุมชน) พบว่า ชุมชนยังคงพบลูกน้ำยุงลายโดยไม่ผ่านเกณฑ์มากที่สุดถึงร้อยละ 83.33 รองลงมาพบว่า สถานที่ราชการ และโรงแรม /รีสอร์ท ยังคงพบลูกน้ำยุงลาย  โดยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ถึงร้อยละ 30.77 และ 22.73 ตามลำดับ ดังนั้น จึงเน้นย้ำให้ชุมชนร่วมมือกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและโรงเรียนให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 2.โรงเรียน/สถานศึกษา 3.โรงพยาบาล 4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 5.โรงแรม/รีสอร์ท 6.โรงงาน และ 7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด นอนในมุ้ง หรือติดมุ้งลวดในบ้าน และหลีกเลี่ยงสถานที่มียุงชุกชุม หากมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร และยากต่อการรักษา หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด ภายใน 1-2 วัน  ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar