ความจำเป็นของการ "กู้เงินเพิ่ม" และ "ขยายเพดานหนี้สาธารณะ" ของภาครัฐ

ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นคำถามถึงการกู้เงินและขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลมากมาย ดังนั้น ลองมาไล่เรียงความจำเป็นของการกู้และขยายเพดานหนี้สาธารณะกันอีกครั้ง

หนี้สาธารณะ คือ?

ตามความหมาย คือหนี้ที่ถือโดยรัฐบาลกลาง, หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์กรของรัฐ, รัฐวิสาหกิจ, การค้ำประกันหนี้สินโดยรัฐบาล ซึ่งการเกิดขึ้นของหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลกมาจากการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล คือรายได้ของรัฐน้อยกว่ารายจ่ายของรัฐ ทำให้ต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลในแต่ละรอบปีงบประมาณ

การกู้เงินของรัฐบาล มีได้หลายช่องทาง อาทิ จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ , เอกชน, รัฐบาลต่างประเทศ, องค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

หนี้สาธารณะและเพดานหนี้สาธารณะ(เงินกู้)ของไทยในปัจจุบัน

กระทรวงการคลังรายงานหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ 9.62 ล้านล้านบาท หรือ 59.58% ของจีดีพี ใกล้ทะลุ60% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังเก่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้ได้ไม่เกิน70% ของจีดีพี หรือว่าง่ายๆกู้ได้อีก1ล้านล้านบาท นอกเหนือจากแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565

ความจำเป็นของการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อGDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เคยอธิบายไว้ว่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาลและไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ที่สำคัญเพื่อให้ประเทศมีช่องทางในการกู้เงิน ที่มีความจำเป็นต้องกู้จำนวนมากเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กู้ 2 รอบรวม 1.5ล้านล้านบาท ใช้ทำอะไรบ้าง

ที่ผ่านมาเรามี พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2 ฉบับ ฉบับแรก 1ล้านล้านบาท ฉบับที่ 2 อีก 5แสนล้านบาท รวม 1.5ล้านล้านบาทข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะพบว่าการเบิกจ่ายและครม.อนุมัติโครงการไปแล้วจนถึงเดือนก.พ.2565นี้ อยู่ในฉบับที่ 2 จำนวน 402, 865ล้านบาท เหลือยังไม่ได้เบิกใช้และครม.ยังไม่อนุมัติ ประมาณ 97,135ล้านบาท ถามว่า แล้วกว่า 1.4ล้านบาท ที่เบิกและครม.อนุมัติไปแล้วนั้นนำไปใช้และจะใช้อะไรบ้าง? ซึ่งก็ตอบแบบเร็วๆได้เลยว่าส่วนใหญ่ก็นำไปใช้ตามชื่อของพ.ร.ก. "แก้ปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู" ผ่านโครงการและแผนงานจำนวนมาก ยกตัวอย่าง

- จัดหาวัคซีนป้องกันโควิดที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยได้ฉีดไปแล้วกว่าร้อยละ76 ในเข็มแรก เข็ม2 กว่าร้อยละ70 เข็ม3 กว่าร้อยละ27 และยังมีเข็ม4 รวมทั้งวัคซีนรุ่นใหม่ในอนาคตที่จะจัดหามาบริการฉีดให้แบบฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

- จัดหาอุปกรณ์การแพทย์-เวชภัณฑ์ในการรักษา ป้องกันและตรวจหาเชื้อโควิด

- ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์-อสม.

- เยียวยาประชาชนทั่วไป อย่าง โครงการคนละครึ่งมาถึงเฟส4แล้ว, ลดค่าน้ำค่าไฟ, เงินเยียวยาผู้ประกันตน, งบอุดหนุนนายจ้างให้จ้างงานต่อ, เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, เงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด, อุดหนุนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญ ๆ อีกหลายโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเติบโต อย่างเงินช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการประกันราคาข้าว กว่า89, 000ล้านบาท จ่ายเป็นงวด ๆ ไปแล้วกว่า 13, 000ล้านบาท, โครงการสร้างและต่อขยายรถไฟฟ้าสารพัดสีกว่า10 สาย, เดินหน้าสร้างถนน-ทางพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)สายต่าง ๆ, เดินหน้ารถไฟความเร็วสูง, เดินหน้าระบบราง, ขนส่งทางบก น้ำ อากาศ สารพัดโครงการ, เดินหน้าEEC เป็นต้น

รัฐบาลก่อน ๆ กู้เงินไหม?

มีทั้งออกเป็นพ.ร.บ.และพ.ร.ก ยกตัวอย่างรัฐบาลทักษิณ พ.ร.ก.กู้เงิน7.8แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน เฟส2, รัฐบาลอภิสิทธิ์ พ.ร.ก.กู้เงิน4แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พ.ร.ก.กู้เงิน3.5แสนล้านบาท เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำฯ และอีกฉบับพ.ร.บ.กู้เงิน2ล้านล้านบาท เพื่อโครงสร้างพื้นฐานฯ แต่กฎหมายกู้เงินฉบับนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ประเทศอื่นกู้เงินไหม? หนี้สาธารณะเขาเป็นอย่างไร?

โควิด19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ 100 ปีเลยก็ว่าได้ ดังนั้น เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการกู้เงินและขยายเพดานหนี้สาธารณะกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศหรือIMF เมื่อปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีประชากรกว่า 126ล้านคน แต่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP มากที่สุดอยู่ที่ 234.18% ประเทศพัฒนาแล้วทางยุโรปอย่างอิตาลี ประชากรกว่า 60ล้านคน มีหนี้สาธารณะต่อ GDP 133.43% สหรัฐอเมริกาขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก มีประชากรกว่า 329ล้านคน มีหนี้สาธารณะมากกว่า 105% ขณะที่สิงคโปร์เพื่อนบ้านอาเซียนของเรามีประชากรเกือบ 6ล้าน มีหนี้สาธารณะ 130%

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกให้ความสำคัญกับความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ให้อยู่ในการควบคุมได้และไม่ผิดนัดชำระหนี้มากกว่ายอดเพดานหนี้ที่สูงลิ่วของประเทศเหล่านี้มากกว่า ซึ่งเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ถึง60% (59.58) สามารถขยายหนี้ไปได้อีกถึง 70% ตัวเลขระดับนี้จึงไม่น่าเหนือการควบคุมแต่อย่างใด

ที่มา  

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar